"ศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ จันทบุรี" เรียนรู้ "วิถีพอเพียง" ตามรอยพ่อ

07 ธันวาคม 2561

 "ศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ จันทบุรี" เรียนรู้ "วิถีพอเพียง" ตามรอยพ่อ 
 

                “เมืองผลไม้” เป็นสมญานามของ จันทบุรี จังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย เรียกว่าใครไปเยือนแล้วไม่ได้เข้าไป “ชิมถึงสวน” ถือว่ายังไปไม่ถึง โดยที่ จ.จันทบุรี มีสวนผลไม้จำนวนมากที่เกษตรกรเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมและเลือกซื้อผลผลิต บางแห่งก็ให้บริการแบบบุฟเฟ่ต์ แต่สำหรับที่ “โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี” เป็นมากกว่านั้น เพราะที่นี่คือแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

                สุวิวัฒน์ วงษ์สกุลไชยะ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน หัวหน้างานวิชาการเกษตรศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2521 หรือ 40 ปีที่แล้ว เวลานั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้คณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริดำเนินการสำรวจพื้นที่ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินสวนไม้ผลซึ่งมีลำคลองไหลผ่าน ในพื้นที่บ้านทุ่งโตนด ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี จำนวน 109.99 ไร่ เพื่อเตรียมวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้เป็นตัวอย่างในการใช้ประโยชน์แก่ประชาชน
 
                ด้วยทอดพระเนตรเห็นว่า “ในอนาคตจะมีการขยายการทำสวนผลไม้เพิ่มขึ้นอีกมาก ถึงแม้จังหวัดจันทบุรีจะมีปริมาณฝนมาก จำนวนวันที่ฝนตกกว่าครึ่งปี จนเกิดน้ำไหลหลากท่วมจังหวัดจันทบุรีเป็นประจำ แต่ฤดูแล้งจะขาดน้ำ” ดังนั้นพระองค์จึงทรงวางแนวทางการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ด้วยการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และป้องกันน้ำท่วมในอนาคต
 
                สุวิวัฒน์ เล่าต่อไปว่า ต่อมาในปี 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้คณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาไม้ผล เพื่อเป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพแก่ราษฎร และสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น สวนไม้ผล 60 ไร่ สระเก็บน้ำ 12 ไร่และพื้นที่ว่างเปล่า 37 ไร่ เพื่อทำการศึกษาและทดลองทางการเกษตร
 
                ทั้งหมดอยู่ในการดูแลของ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เพื่อให้เป็นศูนย์ศึกษาด้านการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศตลอดจน ขยายผลให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้อย่างสมบูรณ์
 
                ภายในศูนย์แห่งนี้จะเน้นเรื่องการจัดการดูแลสวนผลไม้ อาทิ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลำไย และรวบพันธุ์ผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี ก็คือ “ทุเรียนพันธุ์โบราณ” ซึ่งเส้นทางการศึกษาดูงานจะมีความยาวประมาณ 800 เมตร นับเป็นแปลงเกษตรที่พร้อมต่อการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาแปลงตัวอย่างในการผลิตไม้ผลทุกชนิด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการนำวิถีตามธรรมชาติของพืชและสัตว์มาไว้ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเกื้อกูลกันในการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตภายใต้หลักวิชาการที่ถูกต้องในการทำการผลิต
 
                เช่น ส่งเสริมการเลี้ยง “ชันโรง” ซึ่งเป็นแมลงตระกูลผึ้ง เพื่อเป็นผู้ช่วยผสมเกสร และนำผลผลิตจากชันโรงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย เช่น น้ำผึ้งจากชันโรง ในส่วนของการดูแลสวนจะใช้เทคโนโลยีในการดูแล เช่น ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน การใช้ความรู้ทางวิชาการในการควบคุมด้านเคมี และทำการทดลองพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร ที่เน้นการลดต้นทุนในการเพาะปลูก อีกทั้งเรียนรู้ในเรื่องการใช้ปุ๋ยที่ไม่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภคผักและผลไม้ รวมถึงแนะนำการใช้ดินที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก
 
                มีผู้คนสนใจศึกษาดูงานจากองค์กรต่างๆ จะเน้นมากเรื่องของทุเรียน ซึ่งสามารถควบคุมผลผลิตให้ออกนอกฤดูกาลได้ เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ทำรายได้สูงจึงมีผู้สนใจที่จะเข้ามาศึกษาดูงาน ไม่ใช่เพียงเท่านั้นยังมีการศึกษาดูงานในเรื่องของลำไย เพราะจันทบุรีปลูกลำไยที่มีคุณภาพส่งออก และที่สำคัญคือสามารถควบคุมผลผลิตได้ เนื่องจากนำเทคโนโลยีใหม่ๆนำมาใช้” สุวิวัฒน์ กล่าว

ที่มา: https://www.naewna.com/local/381139?fbclid=IwAR0klmNYHaGVSx7nciljIrwHQISS2MArSpt-IYtwWmXwj8NpjsVHNfqLNQ0