“สศอ.” ระบุโควิด-19 กระทบ MPI มี.ค.63 หดตัวร้อยละ 11.25

01 พฤษภาคม 2563

“สศอ.” ระบุโควิด-19 กระทบ MPI มี.ค.63 หดตัวร้อยละ 11.25 ระบุผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวเตรียมเพิ่มการผลิตสินค้าเข้าสถานการณ์เพิ่มรายได้

 

               นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค.63 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.25 โดยได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและภัยแล้ง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสแรกปี 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.63
 

               อย่างไรก็ตาม ยอดการจำหน่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.49 โดยผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรมอาทิ อาหารแปรรูป ได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค.63 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนก.พ.63ที่ร้อยละ 1.87 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 67.22
 

               ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ร้อยละ 5.22 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Hard disk drive ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังทั่วโลกใช้นโยบาย work from home และอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จึงมีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง โดยมีดัชนีผลผลิตหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 68.93 ทั้งนี้มีความต้องการอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกอาหารเดือนมี.ค.63 ขยายตัวร้อยละ 0.8
 

               สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนมี.ค.63 ได้แก่ น้ำตาลจากภาวะภัยแล้ง รถยนต์และเครื่องยนต์จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมี.ค.63 ได้แก่ Hard disk drive,เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน,การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก,เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคและอาหารทะเลแช่แข็ง
 

               ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ความต้องการสินค้าในตลาดโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมบางสาขามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารบางสาขา และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการเตรียมผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการนำเข้ารวม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.49 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.72 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบันรวมถึงการปรับเปลี่ยนตัวสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
 

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
www.oie.go.th