บีโอไอเผยคำขอรับส่งเสริม 9 เดือน FDI พุ่ง ร้อยละ 69 ญี่ปุ่น-จีนปักหมุดลงทุนไทยต่อเนื่อง

05 พฤศจิกายน 2562

 บีโอไอเผยคำขอรับส่งเสริม 9 เดือน FDI พุ่ง ร้อยละ 69
 ญี่ปุ่น-จีนปักหมุดลงทุนไทยต่อเนื่อง 

 
                บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2562 กว่า 1,100 โครงการ มูลค่า 3.14 แสนล้านบาท FDI เพิ่มร้อยละ 69 ญี่ปุ่น-จีนขยายลงทุนไทยต่อเนื่อง กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยอดขอรับการส่งเสริมพุ่ง ทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และดิจิทัล 
 
                นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 1,165 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,048 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 314,130 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในปี 2561 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป 
 
                สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 689 โครงการ เงินลงทุน 203,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 69 โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มี จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีคำขอรับการส่งเสริม จำนวน 167 โครงการ เงินลงทุน 59,187 ล้านบาท ตามด้วยอันดับ 2 คือ จีน มีคำขอรับการส่งเสริม จำนวน 139 โครงการ เงินลงทุน 45,439 ล้านบาท และอันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ มีคำขอรับการส่งเสริม จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุน 11,710 ล้านบาท
 
                ทั้งนี้ โครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนของปีนี้ อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 585 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มีมูลค่า รวม 185,710 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาในด้านจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุดจะอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ขณะที่ในด้านมูลค่าเงินลงทุน ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นคำขอรับส่งเสริม เป็นโครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น ร้อยละ 38 คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ร้อยละ 36 และโครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ ร้อยละ 26
 
                สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในช่วง 9 เดือน มีจำนวน 360 โครงการ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 262 โครงการ โดยมีเงินลงทุนรวม 167,930 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23 เนื่องจากในปี 2561 มีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตน้ำมัน เชื้อเพลิงสำเร็จรูป ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี ขณะที่การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริม SMEs มีคำขอรับการส่งเสริม จำนวน 43 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87 จากเดิมอยู่ที่ 23 โครงการ โดยมีเงินลงทุนรวม 2,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 167 จากเดิมอยู่ที่ 880 ล้านบาท
 
                นางสาวดวงใจ กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ย. 2562) บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริม การลงทุนแล้วรวม 1,074 โครงการ มูลค่ารวม 274,340 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างงานให้คนไทย 59,052 ต่ำแหน่ง ส่งเสริมให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ มูลค่า 454,322 ล้านบาทต่อปี และคิดเป็นมูลค่าการส่งออก ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ 507,368 ล้านบาทต่อปี 

************************************************

ข้อมูลจาก: ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)