บอร์ดบีโอไอเห็นชอบขยายพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารอีก 5 แห่ง พร้อมหนุนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้ายานพาหนะและกิจการอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

05 พฤศจิกายน 2562

 บอร์ดบีโอไอเห็นชอบขยายพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารอีก 5 แห่ง 
 พร้อมหนุนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้ายานพาหนะ 
 และกิจการอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 

 

                บอร์ดบีโอไอเห็นชอบให้เพิ่ม “เมืองนวัตกรรมอาหาร” อีก 5 แห่งรวมเป็น 13 แห่งเพื่อส่งเสริมให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก และผลักดันโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารให้ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางขึ้น พร้อมเปิดให้ส่งเสริมกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะ และปรับประเภทกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับทิศทางเทคโนโลยี  
 
                นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้พื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis อีก 5 แห่งตาม โครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร
 
                ก่อนหน้านี้ บอร์ดบีโอไอให้ความเห็นชอบพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารไปแล้ว จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เมือง นวัตกรรมอาหารในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
 
                “โครงการในกิจการเป้าหมายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ Food Innopolis เหล่านี้ นอกจากจะได้รับสิทธิ ประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-10 ปี ตามเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว ยังจะได้รับ สิทธิการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หรือได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี แล้วแต่กรณี  ตัวอย่างกิจการเป้าหมาย เช่น กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ กิจการ วิจัยและพัฒนา และกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น มาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก และสนับสนุนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” นางสาวดวงใจกล่าว
 
เปิดให้การส่งเสริมกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า  
                นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะ ไฟฟ้า หลังจากที่การให้ส่งเสริม “กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า” เดิมได้สิ้นสุดไปแล้ว เมื่อสิ้นปี 2561 เพื่อส่งเสริมการให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับยานพาหนะไฟฟ้าอย่าง ต่อเนื่องและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมสำหรับยานพาหนะที่หลากหลายทั้งทางบก และทางน้ำ ไม่จำกัดเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเดิม คือ จะต้องมีหัวจ่ายรวม ไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย โดยเป็นประเภท Quick Charge ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหัวจ่ายประจุไฟฟ้าทั้งหมดภายใต้โครงการ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการติดตั้งหัวจ่ายประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากขึ้น โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี  
 
ปรับปรุงประเภทกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
            ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ในหมวดอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อชักจูงบริษัทเป้าหมายและช่วงชิงโอกาสในการสร้างให้ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ของสินค้าส่งออกหลักของไทย และสร้างการจ้างงานทักษะสูงมากขึ้นในประเทศไทย โดยเปิดให้การส่งเสริม กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะและกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี 
 
                นอกจากนั้น เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังได้ ปรับปรุงให้สิทธิและประโยชน์ให้สูงขึ้น หากเป็นโครงการที่มีกระบวนการผลิตที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงหรือสร้าง มูลค่าเพิ่มสูงหรือใช้องค์ความรู้สูง เช่น ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ขั้นตอนการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 
 
อนุมัติให้ส่งเสริมโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 
                ที่ประชุมอนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จำนวน 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 22,268 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีขนาดกำลังผลิต 560 เมกะวัตต์ 
 

************************************************

ข้อมูลจาก: ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)