บีโอไอปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ นำระบบดิจิทัลมาใช้-เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการนักลงทุน

07 ตุลาคม 2563

บีโอไอปรับโครงสร้างองค์กรใหม่
นำระบบดิจิทัลมาใช้-เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการนักลงทุน

 

               บีโอไอเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการลงทุนสมัยใหม่ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมเพิ่มบุคลากรเร่งอนุมัติโครงการให้เร็วขึ้น ปรับโฉม กองพัฒนาผู้ประกอบการไทย หนุนลงทุนไทยในต่างประเทศ และตั้งทีมยกระดับการให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนอย่างรวดเร็วครบวงจร
 
               นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า สำนักงานได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายในการเร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนให้สอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดโครงสร้างกองส่งเสริมการลงทุนใหม่ แบ่งเป็น Sector 1-4 ดังนี้

               ► กองส่งเสริมการลงทุน 1 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ เช่น เกษตรและแปรรูปอาหาร การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ

               ► กองส่งเสริมการลงทุน 2 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องจักรกล ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

               ► กองส่งเสริมการลงทุน 3 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น แร่ โลหะ และวัสดุ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี พลังงาน สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม

               ► กองส่งเสริมการลงทุน 4 รับผิดชอบอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง เช่น ดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ โลจิสติกส์ การบริการเฉพาะทาง การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมบริการอื่นๆ
 
               ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มกองติดตามและประเมินผลการลงทุนอีก 2 กอง เพื่อทำหน้าที่ติดตาม การดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในบัตรส่งเสริม เช่น การใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้รวมกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุนกับ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เป็น “กองพัฒนาผู้ประกอบการไทย” เพื่อดูแลพัฒนาผู้ประกอบการไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ งานส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ การกำหนด กลยุทธ์การพัฒนาผู้ประกอบการไทย การสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการลงทุน การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการไทย การสนับสนุนให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในประเทศครอบคลุมทั้งกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการลงทุนในประเทศไทยและการลงทุนไทยในต่างประเทศ
 
               ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สำนักงานได้เปิดให้บริการผ่านระบบออนไลน์ อาทิ e-Submission ซึ่งเป็นระบบการส่งจดหมาย และเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีบริการ e-Service ที่ช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของบีโอไอ ผ่านเว็บไซต์ www.boi.go.th และเร็ว ๆ นี้บีโอไอจะเปิดตัวหน่วย CSU (Customer Service Unit) เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่นักลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มบุคลากรรองรับการติดต่อของนักลงทุนผ่านระบบโทรศัพท์ มีระบบการนัดหมายออนไลน์ และ การให้บริการรับส่งเอกสารเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสำนักงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
 

ที่มา: ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน