​กนอ.ครบรอบ 49 ปี พร้อมเปลี่ยนเพื่ออนาคต เดินหน้าพัฒนานิคมฯครบวงจร ตอบรับนโยบาย BCG ชี้ 65 นิคมฯสร้างเม็ดเงินลงทุนในไทยแล้วกว่า 5.27 ล้านลบ.

14 ธันวาคม 2564

กนอ.ครบรอบ 49 ปี พร้อมเปลี่ยนเพื่ออนาคต เดินหน้าพัฒนานิคมฯครบวงจร ตอบรับนโยบาย BCG ชี้ 65 นิคมฯสร้างเม็ดเงินลงทุนในไทยแล้วกว่า 5.27 ล้านลบ.
นายนรินทร์  กัลยาณมิตร   ประธานกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( กนอ.) เปิดเผยหลังร่วมเป็นเกียรติในงานฉลองครบรอบ 49 ปี กนอ. โดยระบุว่า ภารกิจหลักของ กนอ.คือ การพัฒนา จัดตั้ง และบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม สร้างฐานการผลิตเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร มุ่งเน้นนวัตกรรมนำการเปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างสมดุล เพื่อให้เกิดการเติบโตในทุกภาคส่วนของประเทศ
ทั้งนี้จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ กนอ.ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งภายใต้การดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

นายสมเจตน์   ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. (ปี 2532-2542) กล่าวว่า กว่า 49 ปี ที่ กนอ.ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานบนฐานของพันธกิจ ปรัชญาในการดำเนินงาน และหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบบคุณค่า 5E’s ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) มุ่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม (Equitability) มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย (Environment)

การสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และสังคม (Education) และการเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ (Ethics) ซึ่ง กนอ.ได้ยึดถือเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานมาโดยตลอด จนทำให้ กนอ.เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่วางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการจัดการบนพื้นฐานของเทคโนโลยี ผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้องค์กรเติบโตยั่งยืน และมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ดีของสังคม สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อวางรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ควบคู่กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างยั่งยืน