เลขาฯ บีโอไอ คนใหม่ ลั่นสานต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน ดันมูลค่าคำขอปี’61 ทะลุ 6 แสนล้า

18 ตุลาคม 2560

                น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินนโยบายบีโอไอในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่แทนคนเก่าที่เกษียณอายุ ว่า จะสานต่อนโยบายการพัฒนา 5 ด้านให้มากขึ้น ได้แก่
1. การพัฒนาคน
2. ส่งเสริมภาคการเกษตร
3. กระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
4. การพัฒนาเอสเอ็มอี และ
5. การปรับปรุงบริการของบีโอไอให้รวดเร็วและทันสมัยมากขึ้น
 
                นอกจากนี้ บีโอไอยังเตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่ช่วงต้นปี 2561 เพื่อให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน จูงใจให้นักลงทุนเข้ามายื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 มากกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย ปีนี้ที่มั่นใจว่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้ 6 แสนล้านบาท เนื่องจากการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา
 
นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหาร ช่วงเดือนพ.ค. 2557-ก.ย. 2560 มีคำขอลงทุนรวม 1,561 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของมูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ และอนาคตเชื่อว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง ซึ่งในการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเดือนพ.ย.นี้ จะหารือถึงความเหมาะสมในการต่ออายุหรือขยายมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ จากปัจจุบันให้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ระยะเวลา 5 ปีเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์หลักที่ได้รับ มีกำหนดสิ้นสุดอายุลงวันที่ 31 ธ.ค. 2560 นี้  น.ส.ดวงใจ กล่าว
  
                สำหรับแผนส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศนั้น ปี 2561 บีโอไอจะส่งเจ้าหน้าที่บีโอไอไปประจำสำนักงาน 3 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ย่างกุ้งของเมียนมา ฮานอยของเวียดนาม และจากาตาร์ของอินโดนีเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยปัจจุบันนักลงทุนไทยออกไปลงทุนที่เมียนมาเฉลี่ยประมาณ 12,000 ล้านบาท เวียดนาม 8,000 ล้านบาท และอินโดนีเซีย 300 ล้านบาท
 
                น.ส.ดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า บีโอไอยังคงมีแผนชักจูงนักลงทุน (โรดโชว์) ทั้งในประเทศเป้าหมายเดิมและรายใหม่ให้มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เป็นต้น
 
                อย่างไรก็ตาม ส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ที่จะมีเงินกองทุน 1หมื่นล้านบาทสนับสนุนนั้น ขณะนี้มีเอกชน 4-5 ราย กำลังหารือกับบีโอไอเพื่อเตรียมขอรับการส่งเสริมการลงทุน
 
แหล่งที่มา: ข่าวสด https://www.khaosod.co.th