ยางล้อ กยท.บุกตลาดเมืองตราด อัดราคาโปรโมชั่น1,500บ./เส้น

27 ตุลาคม 2560

               เปิดตัวยางล้อ กยท.จับมือดีสโตนผลิต หวังช่วยเพิ่มปริมาณใช้ยางในประเทศ โปรโมชั่นเส้นละ 1,500 บาท ด้านเครือข่ายยางพาราหนุนแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ชี้เป็นทางออกดึงราคายางกระเตื้อง แนะรัฐเลิกโค่นยางทิ้งลดซัพพลาย หวั่นก่อปัญหาใหม่ คนไร้อาชีพทำกิน
 
                นายเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์ ประธานสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด และรองประธานเครือข่ายยางพาราจังหวัดตราด กล่าวว่า ปัญหายางพาราราคาตกต่ำที่ต่อเนื่องในขณะนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุน กยท.ผลิตล้อยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป และเพิ่มดีมานด์ของยางพาราตลาดในประเทศ
 
                อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่มั่นใจการตอบรับของตลาด กยท.จึงจัดทำโครงการยางล้อประชารัฐ โดยร่วมมือกับบริษัท ดีสโตน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่ผลิตยางล้อมีมาตรฐานส่งออกต่างประเทศ ผลิตยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ ยางล้อรถยนต์ 4 ล้อทั่วไป ภายใต้แบรนด์ TH-TYRE( ไทย-ไทยเอ่อร์) และทำข้อตกลงกับ ปตท.เพื่อให้บริการเปลี่ยนล้อและถ่วงล้อ
 
                โดย กยท.ได้มอบให้เครือข่ายยางพาราจังหวัดเป็นตัวแทนจำหน่าย คาดว่าเกษตรกรจะให้ความสนใจยางล้อ เพราะมีราคาถูกกว่าตลาดประมาณ 25% ซึ่งการใช้ยางพาราแปรรูป จะทำให้ดีมานด์ของตลาดยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคายางดิบตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งยางพาราไทยเป็นสินค้าคุณภาพที่ส่งออกอันดับ 1 มีปริมาณถึง 4.3 ล้านตัน
 
                นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า มาตรการภาครัฐแก้ปัญหาราคายางพารา เพื่อลดซัพพลายด้วยการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกยางพารา จะสร้างปัญหาใหม่ขึ้น รวมทั้งการลดพื้นที่ปลูกยางพาราด้วย การโค่นยางในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้าสามารถเพิ่มดีมานด์ในตลาดภายในและต่างประเทศมากขึ้น และนำยางพารามาแปรรูปเพิ่มมูลค่าใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ราคาตลาดต่างประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจังให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ยางล้อที่ผลิตขึ้นจากโครงการนี้ทั่วประเทศ จะช่วยสร้างดีมานด์ตลาดได้มาก เพราะคุณภาพยางล้อที่บริษัทดีสโตนผลิตให้ กยท.เป็นรุ่นพยัคฆ์ที่ตลาดให้ความนิยมอยู่แล้ว
 
                ตอนนี้ราคายางยังผันผวนมาก ช่วงวันชาติจีน ต้นเดือน ต.ค. ตลาดจีนปิดยาว 10 วัน ไม่รับซื้อ แต่เมื่อตลาดจีนเปิด ราคาตลาดจีนไม่ลงแต่ตลาดในประเทศลงไปเกือบ 4 บาท/กก. โดยราคายางแผ่นรมควันจากกิโลกรัมละ 56-57 บาทเหลือ 49 บาท ยางก้อนถ้วย ราคา 21-22 บาทลดเหลือ 18-19 บาท รวมๆ คือ 5 กิโล 100 บาท ซึ่งราคาที่เหมาะสมยางแผ่นรมควันควรจะอยู่ที่ 60-70 บาท/กก. ยางก้นถ้วย 30 บาท/กก.” นายเกรียงไกรกล่าว
 
                ด้านนายมณฑล ปริวัฒน์ ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกผลไม้ อ.เขาสมิง จ.ตราด และจันทบุรี กล่าวว่า หาก กยท.ร่วมกับบริษัทเอกชนผลิตล้อยางที่ได้มาตรฐานราคาถูกกว่าท้องตลาด ตลาดรถบรรทุกเล็กโดยเฉพาะรถผลไม้จะให้ความสนใจมาก เพราะปกติต้องเปลี่ยนยางทุกฤดูการผลิต และใช้ยางที่ผลิตจากจีนราคาเส้นละ 2,000 บาท หาก กยท.มีการผลิตที่ได้มาตรฐานน่าจะหาตลาดไม่ยาก แต่ต้องประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการให้บริการเปลี่ยนยางและถ่วงล้อของ ปตท.จะต้องให้บริการได้ทั่วถึงด้วย
 
                ขณะนี้ยางล้อรถยนต์ที่ผลิตออกมา มี 2 ขนาด คือ 205/70/15 กับ 215/70/15 รุ่นแรกจะเปิดตัวนำร่องที่ จ.ตราด โดยออร์เดอร์ที่สั่งมารุ่นแรก 1,000 เส้นเป็นราคาโปรโมชั่นลดประมาณ 25% หรือเส้นละ 1,500 บาท กระจายในภาคตะวันออก ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และมียอดจำหน่ายใน จ.ตราด 500 เส้น ซึ่งเปิดตัวการใช้ยางล้อ กยท.ครั้งแรกที่ จ.ตราดเมื่อกลางเดือน ต.ค.
 
แหล่งที่มา: ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net