กรศ.เร่งเจรจา “ลุฟท์ฮันซ่า-ฟูจิฟิล์ม-โอทซึกะ-แอร์เอเชีย” ลงทุน EEC เผย 6 อุตสาหกรรม S-Curve ทุบโต๊ะพร้อมลงทุน “โบอิ้ง-แอร์บัส” ยืนยันลงทุนศูนย์ฝึกนักบิน-ศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภา

31 ตุลาคม 2560

                 นายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนให้ความสนใจโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจาก พ.ร.บ. EEC เข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เดือน ธ.ค. 2560 ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ครั้งล่าสุดมีการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)
 
                โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน ทางการบินไทยและบริษัทแอร์บัสเตรียมลงทุนในกิจการศูนย์ซ่อมอากาศยานบริเวณสนามบินอู่ตะเภา ส่งผลให้มีบริษัทในอุตสาหกรรมการบินรายอื่นให้ความสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC เช่น บริษัทโบอิ้ง สนใจลงทุนทำศูนย์ฝึกนักบิน ดังนั้นสำนักงานกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) จึงเริ่มประสานงานเพื่อจัดหาพื้นที่ หาผู้สนใจร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนกิจการและพัฒนาบริษัทผลิตชิ้นส่วนที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นห่วงโซ่ของบริษัทโบอิ้ง
 
 
                ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับ BOI เพื่อชักชวนบริษัทที่ยังไม่ได้ทำธุรกิจในประเทศไทยให้มาลงทุนใน EEC เช่น บริษัทแอร์เอเชีย, บริษัทลุฟท์ฮันซ่า
 
                “ช่วง 2 เดือนมานี้นอกจากกลุ่มทุนต่างชาติรายใหญ่ที่มีความชัดเจนที่จะมาลงทุนแล้ว ล่าสุดยังมีบริษัทนายหน้า (Broker) สัญชาติไทย 2 ราย เข้ามาหารือเพื่อขอเป็นตัวกลางประสานระหว่างนักลงทุนและรัฐ เพื่อยื่นเสนอโครงการลงทุนใน EEC ซึ่งเรามีความกังวลเนื่องจาก EEC เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีเป้าหมายเป็นนักลงทุนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ หวั่นว่าจะเกิดความเสียหาย จึงขอให้นักลงทุนตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะจากการตรวจสอบรายชื่อบริษัท Broker 2 รายที่เข้ามาติดต่อ พบว่ายังไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยนักลงทุนสามารถติดต่อกับสำนักงาน EEC ได้โดยตรง ซึ่งมีจุดบริการ One Stop Service โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และรัฐเองหวั่นว่าจะมีกลุ่มธุรกิจในรูปแบบต่างๆ แฝงเข้ามาหาผลประโยชน์และหลอกลวงนักลงทุน โดยอ้างว่าสามารถต่อรองสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่เป็นเป้าหมายและให้ความสนใจลงทุนที่ EEC อย่างนักลงทุนจีน”
 
                แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทโตโยต้าได้รับการส่งเสริมการลงทุนปลั๊ก-อินไฮบริด จาก BOI เรียบร้อยแล้ว ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลมีบริษัทลาซาด้าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่มีความชัดเจน เพื่อลงทุนในกิจการนิคมโลจิสติกส์ ขณะนี้อยู่ระหว่างตัดสินใจเลือกพื้นที่ดำเนินกิจการ คาดว่าภายในไตรมาส 3/2560 จะทราบผล และที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับบีโอไอ กรมศุลกากร และกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องข้อจำกัดในการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กรณีการครอบครองกิจการทั้งหมดของชาวต่างชาติในธุรกิจการขนส่งซึ่งไม่สามารถทำได้ จึงอยู่ระหว่างพิจารณาข้อจำกัดเหล่านี้ ขณะเดียวกันมีการประสานความร่วมมือกันในโครงการดิจิทัลพาร์ค (EECd) เพื่อชักชวนนักลงทุนในกลุ่มกิจการ Hard-ware-Software
 
                สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมศูนย์การแพทย์ได้ชักชวนนักลงทุนรายสำคัญคือบริษัทฟูจิฟิล์ม อยู่ระหว่างประสานงานเรื่องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทางการแพทย์ และบริษัทโอทซึกะซึ่งมีการลงทุนในประเทศไทยอยู่ และพร้อมที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม แต่ติดข้อกังวลเรื่องราคากลางของยาสามัญ
 
                แหล่งข่าวภาคเอกชนกล่าวว่า สำหรับสภาวะการลงทุนของภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติขณะนี้ถือว่าคึกคักมาก ส่วนกรณีการประสานงานติดต่อเพื่อลงทุนไม่ว่าจะรูปแบบใด สามารถใช้หลายช่องทาง อย่างโบรกเกอร์ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนนายหน้าเป็นตัวกลางเพื่อประสานการลงทุนให้กับนักลงทุนนั้น เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามจึงถือว่าไม่ผิด และอาจเป็นช่องทางที่สะดวกสำหรับนักลงทุนเอง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องตรวจสอบข้อมูลบริษัทโบรกเกอร์ให้ละเอียดเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์จนเกิดความเสียหาย
 
แหล่งที่มา: ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net